International College



แค่เราร่วมมือกัน Thailand Education Hub ย่อมเกิดได้

“เสริมทักษะภาษาที่ 3 ยกระดับความเป็นสากลของสถาบันการศึกษาสู่ World University Rankings-สานต่อโครงการแลนด์บริดจ์” เส้นทางพาประเทศไทยสู่ “ASIA Hub” ในทุกมิติรอบด้าน จากทัศนะของคณบดีวิทยาลัยนานาชาติ (IC-DPU) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) “ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม”

ก่อนที่จะลงไปถึง “การสำรวจเหตุผล” ที่ทำให้ประเทศไทยจะก้าวขึ้นมาเป็น “ASIA Hub” จะเป็นจริงได้ไหม? สำหรับคนในแวดวงการศึกษานานาชาติย่อมเป็นหน่วยงานที่ได้ข้อมูลเปรียบเทียบระดับอินเตอร์ก่อนคนอื่น “ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม” คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ (IC) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ผู้มากด้วยประสบการณ์ด้านภาคีสัมพันธ์ การศึกษาในระดับนานาชาติ จึงได้ให้สัมภาษณ์แก่ ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ จาก Health Wave FM 95.5

ปัจจุบัน ผศ.ดร.ศิริเดช ทำหน้าที่ผู้บริหารดูแลการต่างประเทศและเหล่านักศึกษาต่างชาติกว่า 20 เชื้อชาติ ณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) สถาบันชั้นนำของประเทศไทยที่มียอดจำนวนนักศึกษาต่างชาติมากที่สุดในเวลานี้

Thailand ไม่แพ้ชาติใดในโลก

ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าวว่า 2 เหตุผลที่สนับสนุนให้ไทยจะก้าวขึ้นเป็น “Asia Hub” ประกอบด้วย 1. ค่าครองชีพที่ไม่สูงเกินไป 2. หลักสูตรการศึกษาที่ได้มาตรฐานสากล ซึ่งโดยส่วนใหญ่สาขาวิชาที่นักศึกษาต่างชาติให้ความสนใจมากที่สุดคือสาขา 'บริหารธุรกิจ' เป็นอันดับที่ 1 รองลงมาเป็นทางด้าน 'ไอที' เช่น Cyber Security หรือความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์ที่กำลังน่าสนใจ จากปัจจัยของการพัฒนาประเทศแถบภูมิภาคอาเซียนที่กำลังเป็นขาขึ้นของการก่อร่างสร้างตัวพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

“ค่าครองชีพในประเทศไทยค่อนข้างที่จะสมเหตุสมผล ไม่แพงมากนัก โดยหากเปรียบเทียบกับฝั่งประเทศตะวันตก เราถูกกว่า 3-4 เท่า อีกส่วนคือเรื่องหลักสูตรที่ค่อนข้างได้รับมาตรฐาน จากการที่เราเข้าร่วมมือกับ Partner ทั้งในระดับบริษัทองค์กรและมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ทำให้ไม่ใช่มีแค่เฉพาะหลักสูตรที่เป็นไทยเท่านั้น แต่เรายังมีหลักสูตรลักษณะที่ร่วมมือกับ Partner ดังนั้น ความน่าเชื่อถือตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักศึกษาต่างชาติให้ความสำคัญ คุณภาพการศึกษาที่ไม่ได้แตกต่างกับฝั่งตะวันตก นอกจากนี้ ทุกคนส่วนใหญ่มองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่”

สำหรับการที่ประเทศไทยจะก้าวขึ้นมาเป็น ASIA Hub นั้น ประเทศไทยจึงจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงพัฒนาในเรื่องของการพัฒนาหลักสูตรที่ตอบโจทย์ตลาดองค์กรภาครัฐและเอกชน ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยเองอยู่ในขั้นของการดำเนินการและให้ความสำคัญตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เช่น “Higher Education Sandbox” การทำหลักสูตรพัฒนาศักยภาพสู่เป้าหมายผลิตกำลังคนสมรรถนะสูง ที่จะเป็นการกระตุ้นให้นักศึกษาต่างชาติมาใช้ระยะเวลาเรียนที่สั้นลง แทนการเรียนแบบปกติเดิมที่ 4 ปี ที่ตอนนี้เปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทยเสนอหลักสูตรกันไปแล้ว

นอกจากนี้ “ผศ.ดร.ศิริเดช” มองว่า ประเทศไทยเองอาจจะต้องมองในเรื่องของการ 'ยกระดับ' ความเป็นสากลมากขึ้น โดยการมีองค์กรหรือหน่วยงานมหาวิทยาลัยในลักษณะของการสร้างความร่วมมือ 2+2 หรือ 3+1 คือ เรียนที่ไทยเราบางส่วนและเรียนที่ต่างประเทศบางส่วน หรืออาจจะเป็นหลักสูตรที่เรา Operate ในประเทศไทย 4 ปี โดยได้รับความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ

“อีกเรื่องที่สำคัญคือ เราต้องยกระดับสถาบันการศึกษาของเราเอง โดยสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาเข้าไปในระดับสากลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการไปอยู่ใน World University Ranking ไม่ว่าจะอยู่ใน QS หรือ Times Higher Education ซึ่งถือการจัดอันดับมหาวิทยาลัยเพื่อสะท้อนมุมมองให้นักศึกษาต่างชาติได้เห็นว่า จริงๆ แล้วคุณภาพการศึกษาในเมืองไทยไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าประเทศใดๆ ในโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ประเทศไทยควรจะต้องให้ความสำคัญ

“ยิ่งไปกว่านั้น การยกระดับมหาวิทยาลัยของเราเองจะต้องได้รับการรับรองในระดับสากล นอกเหนือจาก World University Ranking คือการรับรองหลักสูตรกับสถาบันองค์กรวิชาชีพต่างๆ เช่น วิชาชีพที่เกี่ยวข้องในเรื่องของบริหารธุรกิจ และหรือการบัญชี เพื่อให้หลักสูตรของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยไปอยู่ในมาตรฐาน เช่น AACSB (The Association to Advance Collegiate Schools of Business) หรือหลักสูตรวิศวกรรมต่างๆ ก็มีมาตรฐานโลกจาก ABET (Accreditation Board for Engineering and Technology) เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพของหลักสูตรและอาจารย์ ตลอดจนในเรื่องของคุณภาพนักศึกษาด้วย เราก็จะได้มีบุคลากรที่ดี และรวมถึงมีนักศึกษาที่มาเรียนเยอะขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทั้งมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนก็ต้องให้ความสำคัญ”

'แลนด์บริดจ์-เศรษฐกิจ' พุ่งมาที่ด้ามขวาน

เมื่อถามต่อถึงความเป็นไปได้ของประเทศไทยในการเป็น HUB ศูนย์กลางการศึกษาภูมิภาคเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน? ผศ.ดร.ศิริเดชมองว่า “เมื่อก่อนอาจจะเป็นไปได้ยาก” แต่ตอนนี้สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้วด้วยการที่รัฐบาลได้มีการพูดถึงในเรื่องของ 'แลนด์บริดจ์' ซึ่งสิ่งนี้ถ้าเกิดขึ้นจะส่งผลให้ประเทศไทยนั้นไปไกลถึงขั้นกลายเป็น 'ศูนย์กลางของเอเชีย' เลยด้วยซ้ำ

“สมัยก่อนเส้นทางเดินเรือระหว่าง Indian Ocean กับ Pacific Ocean ต้องผ่านประเทศสิงคโปร์ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมประเทศสิงคโปร์เจริญเติบโตมาก แต่ถ้าเกิดแลนด์บริดจ์ขึ้นจริง การร่นระยะเวลาการขนส่งสินค้าได้มากกว่า 1,200 กิโลเมตร แทนที่เราต้องผ่านจากไทยไปแหลมมลายูและผ่านสิงคโปร์ เหลือแค่ประมาณ 90 กิโลเมตร ทำให้ประเทศฝั่งตะวันตกเองก็ให้ความสำคัญต่อไทยมากขึ้น ผมจึงมองว่าไทยจะเป็นศูนย์กลางของทุกอย่างรวมไปถึง Education Hub ด้วยซ้ำ”

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเราผนวกกับกระแสเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนขั้วจากแต่เดิมที่อยู่ทางทวีปฝั่งตะวันตก ณ ตอนนี้ย้ายมาทางประเทศในขั้วโลกตะวันออก เช่น จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย ซึ่งมีพลเมือง 1 ใน 5 มากที่สุดของโลก จึงกลายเป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญที่จะผลักดันไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางในเรื่องต่างๆ เฉกเช่นประเทศสิงคโปร์ในอดีต

“เราจะเหมือนสิงคโปร์ที่โตมาได้เพราะมีเส้นทางเศรษฐกิจผ่านเยอะมาก ดังนั้นเขาก็พัฒนาตัวเขา เราเองก็เช่นกัน ถ้าเราเองในฐานะสถาบันการศึกษายกระดับตัวเราเพื่อให้ตอบโจทย์ประเทศและทิศทางเมืองไทยได้ โอกาสก็เป็นไปได้สูงที่จะเป็นศูนย์กลางต่างๆ ทั้งหมด แม้ว่าตอนนี้เรายังเป็นประเทศกำลังพัฒนา (Developing Country) แต่โอกาสของเราก็จะใกล้เป็น ประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Country) เพิ่มขึ้นอีกด้วย ฉะนั้นเราเองจะทำให้ตัวเราไปอยู่ในจุดนั้นอย่างไรเพื่อจะดึงดูดให้นักศึกษาต่างชาติเข้ามา เราก็ต้องยกระดับตัวเราเหมือนกัน”

มองเป้าเดียวกันร่วมกันก้าวขึ้นมาเป็น “ASIA Hub”

“ก็อยากจะฝากถึงผู้บริหารควรมองไปสู่เป้าหมายร่วมกันในการพัฒนา Education Hub ของภูมิภาค ภาษาจึงเป็นสิ่งสำคัญ” ผศ.ดร.ศิริเดชย้ำ

“อาจจะต้องให้ความสำคัญซึ่งไม่ใช่แค่ภาษาที่สอง แต่เป็นภาษาที่สาม เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น องค์กรสถาบันการศึกษาเราต้องสอนมากกว่าที่จะเป็นภาษาไทย เพราะว่าเราเองก็ต้องดำเนินการต่างๆ ไปในทางเดียวกันกับประเทศที่กำลังจะเดินไป แล้วเราจะเป็น Education Hub ได้นั้น การยกระดับภาษาบุคลากรในองค์กรเป็นสิ่งสำคัญมาก ไม่ใช่แค่อังกฤษเป็นภาษาที่สอง แต่อาจจะต้องมีภาษาที่สามอีกด้วย ดังนั้นสิ่งแรกคือ ภาษาที่จะช่วยดึงต่างชาติให้เข้ามา”

“นอกจากนี้ เรื่องของการยกระดับมาตรฐานสากลอาจจะต้องเอาหลักสูตรหลายๆ หลักสูตรของเราไปรับรองในองค์กรวิชาชีพอื่นๆ หรือกระทั่งการเข้าไปอยู่ใน World Ranking และ Asia Ranking ต่างๆ เราก็ต้องให้ความสำคัญเพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อคนต่างประเทศเมื่อมองมายังประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าเรามีคุณภาพ เราสามารถยกระดับทัดเทียมฝั่งตะวันตกได้ ก็อาจจะนำเรียนผู้บริหารองค์กรเพื่อลองพิจารณาและให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ของทุกสถาบันการศึกษาของเราเพื่อตอบโจทย์การเป็น Education Hub ในอนาคต” ผศ.ดร.ศิริเดชกล่าวทิ้งท้าย